รู้หรือไม่ว่าในแต่ละปีมีผู้ติดต่อและทำธุรกิจกับสำนักงานที่ดินปีละ 13 ล้านครั้ง ขอคำปรึกษาเดือนละประมาณ 30,000 ครั้งต่อปี แต่ในปัจจุบันอาจไม่ได้เห็นภาพเหล่านั้นอีกแล้วเนื่องจากกรมที่ดินได้ยกระดับการให้บริการเพื่ออำนวยความสะดวก ลดขั้นตอน ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนผู้มาติดต่อกรมที่ดิน และตอบสนองการใช้ชีวิตในช่วงที่มีโควิด-19 แพร่ระบาด โดยได้รวบรวมการให้บริการด้านที่ดินต่าง ๆ ไว้ในแอปพลิเคชันเดียว ภายใต้ชื่อ “SMARTLANDS”
บริการ “e-LandsPublic” ระบบค้นที่ดินของรัฐ
จากข้อมูลของกรมที่ดิน พบว่า ประเทศไทยมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 320.7 ล้านไร่ แบ่งที่ดินออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่
1. ที่ดินเอกชน
2. ที่ดินของรัฐ มีหลายประเภท เช่น ป่าถาวร ป่าสงวนแห่งชาติ และอุทยานแห่งชาติต่าง ๆ
สำหรับที่ดินของรัฐที่อยู่ในการบริหารจัดการของกรมที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน คือ ที่ดินสาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน ไม่ว่าจะเกิดขึ้นเองตามสภาพธรรมชาติ มีการสงวนหวงห้ามตามกฎหมายการใช้ประโยชน์ร่วมกันของราษฎร หรือโดยการอุทิศให้เป็นที่มาของการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.)
ทั้งนี้ หนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) ไม่ใช่หนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน เป็นเอกสารที่ราชการจัดทำขึ้นเพื่อบอกแนวเขตที่ดินของรัฐให้ชัดเจน ทำให้ประชาชนที่มีที่ดินติดกับเขตที่ดินของรัฐรู้ว่าเขตที่ดินของตนอยู่ที่ใด เป็นการป้องกันการบุกรุกที่ดินของรัฐ และเป็นการใช้ประโยชน์ที่ดินของรัฐให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ทั้งนี้ กรมที่ดินใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) จึงได้พัฒนาระบบ “e-LandsPublic” ขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้หน่วยงานภาครัฐและประชาชนสามารถสืบค้น เรียกดูตำแหน่งของรูปแปลงที่ดินของรัฐ
หน่วยงานของรัฐและประชาชนสามารถใช้งานระบบ “e-LandsPublic” ได้ที่นี่ หรือคลิกฟังก์ชัน “ค้นหา น.ส.ล.” บนแอปพลิเคชัน SMARTLANDS ได้ทันที โดย สามารถดาวน์โหลดคู่มือการใช้ได้ที่นี่
แจ้งออกโฉนดที่ดินออนไลน์ผ่าน "บอกดิน 2"
กรมที่ดินเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีที่ดินแต่ไม่มีเอกสารสิทธิ หรือมี ส.ค.1, น.ส.3, น.ส.3 ก. และต้องการให้ภาครัฐเข้าไปบริหารจัดการที่ดินให้ถูกต้องตามกฎหมาย ผ่านโครงการ "บอกดิน 2" สามารถแจ้งข้อมูลผ่านสมาร์ทโฟน ซึ่งกรมที่ดินจะนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ในโครงการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินในพื้นที่ รวมทั้งการตรวจสอบตำแหน่งที่ดินเมื่อเกิดภัยธรรมชาติ และรองรับการจัดทำ Big Data ด้านข้อมูลที่ดินของประเทศไทย
ทั้งนี้ สามารถจ้งข้อมูลและตำแหน่งที่ตั้งที่ดินของตนเองได้ง่าย ๆ เพียงใช้สมาร์ทโฟนที่เชื่อมต่อระบบอินเทอร์เน็ต สามารถแจ้งข้อมูลได้ตั้งแต่วันนี้- 30 มิถุนายน 2564 ผ่าน 4 ช่องทาง ดังนี้
1. ทางเว็บไซต์บอกดิน 2
2. ทาง LINE Official Account แอดไลน์ไอดี : @teedin คลิกที่เมนู “บอกดิน”
3. ทางแอปพลิเคชัน “SMARTLANDS” คลิกเมนู “บอกดิน”
4. สแกนเข้าระบบบน “บัตรบอกดิน” ได้ที่สำนักงานที่ดินทั้ง 461 แห่ง ทั่วประเทศ
ทั้งนี้ เมื่อเดินทางไปยังแปลงที่ดินที่ต้องการแจ้งข้อมูลแล้ว ให้ยืนรอประมาณ 1 นาที จากนั้นเข้าระบบ “บอกดิน” ผ่าน 4 ช่องทางข้างต้น เลือกช่องทางใดช่องทางหนึ่งที่สะดวก แล้วกดแจ้งตำแหน่งที่ดิน กรอกข้อมูลส่วนตัว และแนบหลักฐานในที่ดิน (ถ้ามี) แล้วกดส่งข้อมูล
หลังจากนั้นกรมที่ดินจะดำเนินการตรวจสอบในรายละเอียด รวบรวมข้อเท็จจริง หลักฐานต่าง ๆ และแจ้งกลับให้ผู้ครอบครองทราบว่าจะมีวิธีดำเนินการอย่างไร มีข้อจำกัดในเงื่อนไขกฎหมายหรือปัญหาเขตพื้นที่อย่างไร
สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน “SMARTLANDS” มาใช้งานได้แล้ววันนี้ ดาวน์โหลดฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายโดยดาวน์โหลดได้ทั้งในโทรศัพท์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ (Android) และระบบปฏิบัติการ iOS
ระบบปฏิบัติการ Android คลิกดาวน์โหลด
ระบบปฏิบัติการ iOS คลิกดาวน์โหลด
15 บริการที่ทำเองได้ผ่านแอป SMARTLANDS
นอกจากการแจ้งขอโฉนดที่ดินออนไลน์แล้ว ปัจจุบันแอปพลิเคชัน “SMARTLANDS” ยังให้บริการอีก 15 ด้าน ดังนี้
1. สารานุกรมที่ดิน ให้ความรู้และสร้างความเข้าใจด้านที่ดินที่สำคัญและจำเป็นสำหรับประชาชน
2. การนัดจดทะเบียนล่วงหน้า ในการทำธุรกรรมด้านที่ดินกับสำนักงานที่ดินทั่วประเทศ
3. LandsMaps การค้นหารูปแปลงที่ดิน ที่มีรายละเอียดโฉนดที่ดิน 33 ล้านแปลง โดยสามารถเข้าถึงการค้นหาที่ดิน โฉนดที่ดิน และเลขระวางได้ทันที อ่านวิธีใช้ LandsMaps เพิ่มเติมได้ที่นี่
4. การตรวจสอบราคาประเมินที่ดินประจำปีของกรมธนารักษ์ โดยราคาประเมินที่ดินที่ใช้อยู่ในปัจจุบันคือ รอบปี 2559-2563 พบว่า ทำเลที่มีราคาประเมินที่ดินแพงที่สุดในกรุงเทพฯ คือ ถนนสีลม มีราคาประเมินที่ดินอยู่ที่ 700,000-1,000,000 บาท/ตารางวา เช็กราคาประเมินที่ดินกรุงเทพฯ เพิ่มเติมได้ที่นี่
5. การค้นหาที่ตั้งสำนักงานที่ดิน ทั้ง 463 แห่งทั่วประเทศ
6. การคำนวณภาษีอากรและค่าธรรมเนียมที่ดินประเภทต่าง ๆ เพื่อเตรียมการ
7. ขั้นตอนการทำธุรกรรมที่ดิน
8. การค้นหาข้อมูลนิติบุคคลจัดสรรที่ดินอาคารชุด
9. การค้นหาประกาศที่ดิน (e-LandsAnnouncement) เพื่อรักษาสิทธิ์ในที่ดินของประชาชนผ่านระบบอินเตอร์เน็ต โดยประชาชนสามารถตรวจสอบประกาศการทำนิติกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับที่ดินของตนเอง เช่น มรดกเกี่ยวกับที่ดิน การรังวัดข้างเคียง หากจำเป็นต้องคัดค้านก็สามารถดำเนินการได้ทันตามกำหนดเวลาเพื่อรักษาสิทธิในที่ดินของตนเอง
10. การเข้าถึงเว็บไซต์กรมที่ดิน
11. การร้องทุกข์-ร้องเรียน ผ่านระบบ e-Contact DC
12. การติดต่อกรมที่ดินผ่าน LINE: @teedin ของแต่ละสำนักงานที่ดินเพื่อปรึกษาหารือ ติดตามงานที่ยังไม่แล้วเสร็จในวันเดียว
13. ข่าวการจัดซื้อ-จัดจ้าง ของกรมที่ดิน
14. ระบบถาม-ตอบ ปัญหาต่าง ๆ เกี่ยวกับที่ดิน
15. การตรวจสอบค่าใช้จ่ายในการรังวัดทั่วประเทศที่มีค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกันในแต่ละจังหวัด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น